What is OD? การพัฒนาองค์กรคืออะไร 

building

      การพัฒนาองค์กร (OD) คืออะไร มีหลายต่อหลายคนที่ถามผมมาตลอดว่า “คุณทำงานอะไรกันแน่” ผมได้แต่ตอบพวกเขาไปว่า “ผมเปิดบริษัท OD Consult” นั่นเป็นคำตอบที่เหมือนจะทำให้คนถาม งงเข้าไปใหญ่ บางคนก็ถามกลับว่า “แล้ว OD มันคืออะไรหล่ะ”, “มันคือที่ไปกู้แบงค์มาเกินวงเงินใช่ไหม” “คุณเป็นพนักงานธนาคารงั้นเหรอ” และอีกสารพัดคำถามที่ผมเจอ แต่ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยรู้กันว่า OD คืออะไร

      OD ย่อมาจากคำว่า Organization Development แปลว่า การพัฒนาองค์กร
มีหลายคนร้องอ๋อและพอจะเข้าใจบ้าง และบางคน นำไปผูกเข้ากับกิจกรรมของบริษัทของตนที่เคยทำมา“ใช่ ที่ไปจัดกิจกรรมให้หน่วยงานของรัฐ  หรือ บริษัทเขาทำกิจกรรมกันสนุกๆ  ตามรีสอร์ท โรงแรม หรือ กิจกรรมกลางแจ้ง ใช่ไหมคะ” หรือ “อ้อ ถ้างั้นอย่างนี้มีเยอะครับ บริษัทผมก็เพิ่งจ้างอาจารย์มาจัดกิจกรรมเรียกว่าอะไรนะ กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ ละลายพฤติกรรม หรือ Team Building บริษัทผมเพิ่งจัดไปปลายเดือนที่แล้วนี่เอง” มีหลากหลายความเข้าใจมากๆ ที่ทำให้ผมและทีมงานของบริษัท ต้องมาชี้แจงแถลงไข เพื่อทำให้รู้ว่า OD มีอะไรมากกว่ากิจกรรมที่ทำให้เกิดความสนุก OD ยังพัฒนาองค์กรของคุณให้เข้าใกล้ วิสัยทัศน์ (Vision) ขององค์กรมากขึ้นไปอย่างยั่งยืนอีกด้วย ตกลงแล้ว OD คืออะไรกันแน่ หากถามว่า “คนที่ผมพบ แล้วรู้จักงาน OD ตามที่เขารู้จักมานั้นมีความเข้าใจที่ผิดหรือไม่” ผมขอตอบได้เลยว่า “ไม่ผิดครับ แต่ไม่ถูกต้องทั้งหมด มันถูกแค่ส่วนเดียวเองครับ” จริงๆ แล้วคำว่า OD หรือ การพัฒนาองค์กร นั้นลึกซึ้งลงไปมากกว่าการจัดกิจกรรมสนุกๆ เยอะครับมาค่อยๆ ดูกันดีกว่านะครับว่า จริงๆ แล้ว OD มันคืออะไรกันแน่

      เริ่มจากความหมายที่แท้จริงของคำว่า OD กันก่อนดีกว่านะครับ OD ย่อมาจาก Organization Development= Organization + Development = องค์กร + การพัฒนา มาเริ่มกับคำว่า Organization หรือ องค์กร กันก่อนนะครับ Organization หรือ องค์กร หมายถึง การรวมตัวกันของคน ตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป เพื่อทำกิจกรรม หรือ งานใดงานหนึ่ง ร่วมกัน โดยมีจุดหมายเดียวกัน ดังนั้น การทำงานในบริษัทแม้จะเป็นหน่วยงานเล็กสักแค่ไหน แม้เพียงคนเดียว แต่งานนั้นมีผลต่อจุดมุ่งหมายของบริษัท ก็ถือว่าเป็น “องค์กร”
หรือ การทำงานแม้จะมีจุดมุ่งหมายที่ไม่ได้อยู่ที่ตัวเงิน เช่น วัด มูลนิธิ สมาคม กลุ่ม NGO หรือ กลุ่มไม่แสวงหาผลกำไร หากเข้าหลัก ทำงานหนึ่งที่มีจุดหมายเดียวกัน ก็ถือว่าเป็น “องค์กร”

      มาต่อที่คำว่า Development หรือ การพัฒนา กันต่อนะครับ Development หรือ การพัฒนา หมายถึง การทำให้ดีกว่าเดิม การปรับปรุง เปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนจากระดับหนึ่ง ไปสู่ระดับหนึ่งที่ดีกว่า ดังนั้น การกระทำใดก็ตาม ที่ทำให้สิ่งๆ หนึ่ง สิ่งๆ นั้น ดีขึ้นกว่าเดิม อาทิเช่น การประดิษฐ์อุปกรณ์ชิ้นเดิม ให้ทำงานได้ดีขึ้น นั่นเรียกได้ว่า “การพัฒนา” การเล่นฟุตบอล จากเดิมที่เล่นไม่ค่อยได้ เป็นเล่นได้เก่งขึ้น นั่นเรียกได้ว่า “การพัฒนา” การกระทำที่สามารถทำให้การกระทำต่างๆ ทำได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น นั่นเรียกได้ว่า “การพัฒนา” การพัฒนา มี 2 นัย หากการพัฒนาหมายถึงการทำให้ดีกว่าเดิม การปรับปรุง เปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนจากระดับหนึ่ง ไปสู่ระดับหนึ่งที่ดีกว่า การพัฒนา จึงแบ่งได้ 2 นัย ด้วยกัน คือ การแก้ปัญหา (Problem Solving) คือ การทำให้ปัญหานั้นคลี่คลายลง หรือ จนกระทั่ง ปัญหานั้น หมดไปนั่นคือ พิจารณาจาก ปัญหา วิเคราะห์หาสาเหตุ และ วิธีการแก้ไข (นิยามปัญหา คือ ความแตกต่างระหว่าง ผลงานที่เกิดขึ้น กับความคาดหวังที่ตั้งไว้ การปรับปรุงให้ดีขึ้น (Improve) คือ การทำให้ผลงานที่ออกมา ดีขึ้นกว่าเก่า โดยไม่ได้ พิจารณาว่า ผลงานนี้มีปัญหาหรือไม่ อาจจะไม่มีปัญหา หรือ มีแต่ไม่ได้นำมาพิจารณาก็เป็นได้ แต่สามารถทำให้ผลงานที่ออกมา ดีขึ้นได้เช่นกัน

      เมื่อนำ 2 คำมารวมกัน Organization Development = การพัฒนาองค์กร หมายถึง กระบวนการใดก็ตาม ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์กร เพื่อให้องค์กรนั้น เข้าใกล้เป้าหมายที่วางเอาไว้ได้ ดีขึ้นกว่าเดิม

      อาทิเช่น องค์กรธุรกิจ มีการพัฒนา ให้สามารถ หารายได้เข้าสู่องค์กร ได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มกำไร ลดต้นทุน เพิ่มความพึงพอใจให้ลูกค้า องค์กรภาครัฐ มีการพัฒนารูปแบบการทำงาน ให้บริการกับประชาชน ได้ดีขึ้น ง่ายขึ้น เร็วขึ้น โดยคำนึงถึงความพอใจของประชาชนส่วนใหญ่เป็นสำคัญ หน่วยงานการบริการ มีการพัฒนา ให้สามารถ บริการให้ลูกค้าประทับใจ ได้ดีขึ้น เหล่านี้ล้วนเป็น วัตถุประสงค์ในการ พัฒนาองค์กร ทั้งหมด ครับ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การพัฒนาองค์กรนั้น มีความหมายโดยรวมแล้วคือ “การทำให้องค์กรบรรลุเป้าหมาย ได้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน” มิใช่เพียงการสร้างความสุข สนุกสนาน เท่านั้น  แต่จะต้องสร้าง “โครงสร้างหรือระบบ” ที่ดีที่ทำให้องค์กร อยู่ในระดับที่ดีขึ้นนั้นตลอดไปนั่นเอง

Nipat-Chaiworramukkul
Writer Profile
Nipat Chaiworamukkun
Consulting Partner

Leave a Comment