EP.1 ความสัมพันธ์ระหว่างการทำยุทธศาสตร์ กับ SOAR Anlysis

สภาพสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบันอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่า VUCA World ซึ่งมาจากคำว่า ความผันผวน (Volatility) ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความสลับซับซ้อน (Complexity) ความกำกวม (Ambiguity) โดยรวมแล้วหมายถึงเป็นสภาวะที่ยากต่อการคาดเดาว่าจะเกิดอะไรขึ้น ตัวอย่างเช่น สถานการณ์โรค Covid-19 ที่กำลังระบาดในประเทศไทย ส่งผลให้ทุกอค์กรไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนต้องมีการปรับตัวอย่างมาก และแนวคิดหนึ่งที่กำลังเป็นที่นิยมก็คือ “การวางแผนกลยุทธ์” ซึ่งทำกันตั้งแต่การทบทวนเป้าหมายและกลยุทธ์ที่ใช้อยู่เดิม จนไปถึงการระบุเป้าหมายใหม่ และกำหนดกลยุทธ์แบบใหม่ เพื่อให้องค์กรสามารถอยู่รอดและมีสมรรถณะในการแข่งขันต่อไปได้

ซึ่งเครื่องมือหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นก็คือ SOAR Anlysis ครับ อาจจะเพราะด้วยรูปแบบลักษณะที่คล้ายกับเครื่องมือยอดฮิตในการทำกลยุทธ์ที่ชื่อ SWOT Anlysis ก็เลยมีการเปรียบเทียบกันว่า หรือ SOAR จะเป็นเครื่องมือที่ถูกนำมาใช้แทน SWOT? 

ด้วยความที่ใน Details ของเรื่องนี้มีค่อนข้างเยอะ ผมจึงแบ่งเขียนออกเป็นตอนๆ(episode) โดยใน EP.1 นี้ ผมอยากอธิบายเรื่องกลยุทธ์ก่อนครับ

คือเราต้องเข้าใจคำว่ากลยุทธ์ก่อนครับ แล้วค่อยไปเข้าใจตัวเครื่องมือแต่ละชนิดว่ามันใช้งานอย่างไร คล้ายๆให้เห็นภาพใหญ่ก่อนแล้วค่อยๆเจาะลงไปในภาพที่ละเอียดขึ้น แบบนี้จะทำให้ท่านผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายกว่าการเปิดมาแล้วบอกเลยว่า SOAR คืออะไร

คือผมเป็นพวกเน้นรากฐานครับ ถ้าเข้าใจรากฐานเดี๋ยวเราจะเอาไปต่อยอดได้เองครับ

แล้วอันนี้ก็เป็นเจตนาของผมด้วยครับ ที่อยากให้ท่านผู้อ่านสามารถนำ SOAR Anlysis ไปใข้ในน่วยงานของตัวเองได้เลย

ความแตกต่างระหว่าง กลยุทธ์ กับ ยุทธศาสตร์

เริ่มแรก ผมอยากให้ท่านผู้อ่านทำความเข้าใจคำสองคำนี้ก่อนครับ เพราะว่าสองคำนี้แปลมาจากภาษาอังกฤษคำเดียวกันคือคำว่า  strategy เวลาแปลออกมาเราจึงเห็นว่า บางทีก็ใช้คำว่ายุทธศาสตร์ บางทีก็ใช้คำว่ากลยุทธ์ แล้วสรุปว่ามันเหมือนกันมั้ย หรือมันต่างกันยังไง เช่น แผนยุทธศาสตร์กับแผนกลยุทธ์เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร

หลายแห่งบอกว่ายุทธศาสตร์นั้นใช้กับการทหาร ส่วนกลยุทธ์นั้นเป็นการพัฒนาต่อยอดแนวคิดของยุทธศาสตร์มาใช้กับพลเรือน ซึ่งถ้าเช่นนั้น ผมก็อยากทำความเข้าใจคำว่า “ยุทธศาสตร์”ก่อน แล้วค่อยมาดูว่าจากแนวคิดของยุทธศาสตร์ มันนำไปสู่ความเป็นกลยุทธ์ได้อย่างไร

การจะคุยเรื่องยุทธศาสตร์นั้น ผมอยากพาทุกท่านไปรู้จักคนๆนึงก่อน คนๆนี้ชื่อว่า Arthur F. Lykke ครับ เขาเป็นนายทหารและเป็นศาสตราจารย์ประจำวิทยาลัยการทัพบกของสหรัฐอเมริกา เขาได้เขียนบทความ Defining Military Strategy ซึ่งต่อมากลายเป็นแนวคิดหลักในการกำหนดยุทธศาสตร์ของทหารครับ แม้แต่หลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ของไทยเรา ก็ใช้กรอบแนวคิดของท่าน Lykke ในการกำหนดยุทธศาสตร์เหมือนกัน

กรอบแนวคิดของ Arthur F. Lykke ก็คือ Military Strategy = Ends + Ways + Means

Arthur F. Lykke บอกว่ายุทธศาสตร์ทางการทหารนั้นประกอบไปด้วย 3 เสาหลักได้แก่

  • วัตถุประสงค์ (objectives) แทนด้วยคำว่า Ends
  • แนวความคิด (concepts) แทนด้วยคำว่า Ways
  • ทรัพยากร (resources) แทนด้วยคำว่า Means

คำว่ายุทธศาสตร์ จึงหมายถึง  

วิธีการ (ways) ในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ (means) ไปดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนด (ends)

ตัวอย่างเช่น เราต้องการเดินทางไปเที่ยวที่เชียงใหม่ ในกรณ๊นี้ Ends (เป้าหมายของเรา) ก็คือเชียงใหม่

เมื่อได้เป้าหมายแล้ว จากนั้นเราก็มาดูว่า ในการจะไปถึงเชียงใหม่นั้น เรามีทรัพยากร (means) อะไรบ้าง เช่น เรามีรถมั้ย มีเงินมั้ย มีเวลามั้ย ฯลฯ

  • ถ้ามีเวลา มีเงิน แต่ไม่มีรถ เราอาจจะไปเชียงใหม่ด้วยการนั่งรถไฟชั้นหนึ่งไป ตั๋วราคาสูงหน่อย แต่นั่งสบาย ค่อยๆไป ชมนกชมไม้ไปตามทาง
  • ถ้ามีเงิน มีรถส่วนตัว แต่ไม่มีเวลา ก็อาจจะต้องขึ้นเครื่องบินไป
  • หรือถ้ามีเวลา แต่ไม่มีเงิน รถก็ไม่มี ผมอาจจะต้องนั่งรถทัวร์ไปแทน

จะสังเกตได้ว่า วิธีการ (ways) ในการไปถึงเป้าหมายของผม มันถูกปรับเปลี่ยนไปตามทรัพยากรที่ผมมี

นอกจากทรัพยากร (means) ที่มีแล้ว วิธีการ (ways) ของผมอาจต้องปรับเปลี่ยนเพราะสภาพแวดล้อมก็ได้ เช่น เป็นวันหยุดยาวมั้ย เพราะถ้าวันหยุดยาว คนออกเที่ยวต่างจังหวัดเยอะ รถต้องติดแน่นอน และผมก็จะต้องไปถึงเป้าหมายช้ากว่าที่กำหนด หรือเผลอๆผมอาจจเปลี่ยนเป้าหมายไปเลยก็ได้ จากที่อยากไปเชียงใหม่ ผมอาจจะไปแค่วัดพระแก้วแทน เป็นต้น

เมื่อแนวคิด Ends + Ways + Means นี้ ถูกนำไปใช้กับภาคพลเรือนที่ไม่ได้มีภารกิจในการรบ คำเรียกจึงเปลี่ยนไป

คำว่ายุทธศาสตร์นั้นมาจาก ยุทธ+ศาสตร์

  • ยุทธ นั้น หมายถึง การสู้รบหรือการเอาชัยชนะ
  • ศาสตร์ หมายถึง วิชาความรู้
  • คำว่า ยุทธศาสตร์ จึงหมายถึง วิชาที่ว่าด้วยการเอาชนะ

แต่ในองค์กรพลเรือน เราไม่ได้ศึกษายุทธศาสตร์เพื่อทำการรบ แต่เราต้องการใช้เทคนิค วิธีการในการกำหนดแนวทางดำเนินการเพื่อที่เราจะได้เปรียบในการแข่งขัน ในภาคพลเรือนจึงใช้คำว่า “กลยุทธ์” แทน ซึ่ง กล หมายถึง วิธีการหลอกล่อ การใช้เล่ห์ เมื่อรวมคำว่ายุทธ์เข้าไปเป็นกลยุทธ์จึงหมายความว่า การใช้วิธีการต่างๆเพื่อเอาชนะนั่นเอง

  • Ends ของยุทธศาสตร์ จึงถูกเปลี่ยนมาเป็น วิสัยทัศน์ขององค์กร (Vision)
  • Ways ของยุทธศาสตร์ จึงถูกเปลี่ยนมาเป็น การบริหารงานเชิงกลยุทธ์
  • Means ของยุทธศาสตร์ จึงถูกเปลี่ยนมาเป็น เครื่องมือหรือทรัพยากรต่างๆขององค์กร

SOAR Anlysis ก็เป็นเครื่องมือตัวหนึ่งที่ใช้ในการวางแผนกลยุทธ์ ดังนั้นกระบวนการหรือขั้นตอนในการทำ SOAR Anlysis จึงต้องเริ่มจากกำหนดเป้าหมาย (ends) เป็นอันดับแรก จากนั้นก็มาสำรวจถึงทรัพยากร (means) โดย SOAR จะเน้นไปที่ทรัพยากรดีๆที่เรามีอยู่ จากนั้นจึงค่อยมากำหนดวิธีการ (ways) ว่าเมื่อเรามีเป้าหมายแบบนี้ เรามีทรัพยากรแบบนี้ เราควรจะใช้วิธีการใดในการไปถึงเป้าหมาย

ใน EP.ต่อไป จะอธิบายถึงความแตกต่างระหว่าง SOAR กับ SWOT ครับ

อ้างอิง

  • อภิศักดิ์ สมบัติเจริญนนท์, พลตรี. “เข้าใจยุทธศาสตร์ให้ตรงกัน Understand the strategy”
  • ที่มาภาพ https://www.researchgate.net/figure/Lykkes-Original-Depiction-of-Strategy-with-Ends-Ways-and-Means-added-Graphic-courtesy_fig1_325126862
Panat-Sociallabthailand

Writer Profile 
Panat Neramittagaphong 
Project Manager Social Lab Thailand