EP.2 ความแตกต่างระหว่าง SOAR กับ SWOT

ก่อนจะอธิบายความแตกต่างระหว่างเครื่องมือในการทำกลยุทธ์ทั้งสองชนิดนี้ ผมขอทบทวนสิ่งที่เล่าไปใน EP.1 นิดนึงครับ

ใน EP.1 ผมบอกว่าเวลาเราพูดเรื่องกลยุทธ์นั้น มันมีอยู่สองคำที่คล้ายๆกันคือคำว่า ยุทธศาสตร์กับกลยุทธ์ โดยยุทธศาสตร์เป็นคำที่มักจะเอาไว้ใช้กับทางทหาร ส่วนกลยุทธ์ก็คือการนำเอาแนวคิดยุทธศาสตร์ของทางทหารมาปรับใช้ในการบริหารจัดการของภาคพลเรือน โดยรับเอาแนวคิดการทำยุทธศาสตร์มาเป็นพื้นฐานในการวางกลยุทธ์ โดยความหมายของกลยุทธ์ก็คือ วิธีการ (ways) ในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ (means) ไปดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนด (ends) ซึ่งสามารถเขียนเป็นสมการได้ว่า Strategy = Ends + Ways + Means 

SOAR Anlysis ก็เป็นเครื่องมือตัวหนึ่งที่ใช้ในการวางแผนกลยุทธ์ ดังนั้นกระบวนการหรือขั้นตอนในการทำ SOAR Anlysis จึงต้องเริ่มจากกำหนดเป้าหมาย (ends) เป็นอันดับแรก จากนั้นก็มาสำรวจถึงทรัพยากร (means) โดย SOAR จะเน้นไปที่ทรัพยากรดีๆที่เรามีอยู่ จากนั้นจึงค่อยมากำหนดวิธีการ (ways) ว่าเมื่อเรามีเป้าหมายแบบนี้ เรามีทรัพยากรแบบนี้ เราควรจะใช้วิธีการใดในการไปถึงเป้าหมาย 

ทีนี้เนื่องจากลักษณะของ SOAR Anlysis มันคล้ายกับ SWOT Anlysis ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการทำกลยุทธ์เหมือนกัน ก็เลยมีความสับสนว่า SOAR กับ SWOT มันมีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร ซึ่งการที่เราจะเข้าใจความแตกต่างของเครื่องมือทั้งสองชนิดนี้นั้น เราต้องเข้าใจเครื่องมือทั้งสองก่อน เราถึงจะบอกความแตกต่างได้ครับ

SWOT Analysis

SWOT Analysis เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ในการวางแผนกลุยทธ์ โดยคำว่า SWOT มาจากคำ 4 คำ คือ

  • S = Strength (จุดแข็ง)
  • W = Weaknesses (จุดอ่อน)
  • O = Opportunity (โอกาส)
  • T =Threats (อุปสรรค)

พื้นฐานของทั้ง 4 ตัวนี้ มาจากการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกและภายในองค์กร ว่ามีปัจจัยอะไรที่เป็นประโยชน์ต่ององค์กรและมีปัจจัยใดที่เป็นภัยต่อองค์กรบ้าง

 

Helpful

(เป็นประโยชน์)

Harmful

(เป็นภัย)

Internal origin

(ปัจจัยภายในองค์กร)

Strength (จุดแข็ง)

คือ ปัจจัยภายในองค์กรที่เป็นประโยชนต่อองค์กร

Weaknesses (จุดอ่อน)

คือ ปัจจัยภายในองค์กรที่เป็นภัยต่อองค์กร

External origin

ปัจจัยภายนอกองค์กร

Opportunity (โอกาส)

คือ ปัจจัยภายนอกองค์กรที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กร

Threats (อุปสรรค)

คือ ปัจจัยภายนอกองค์กรที่เป็นภัยต่อองค์กร

การทำ SWOT คือการวิเคราะห์ปัจจัยเหล่านี้ครับ ถามว่าวิเคราะห์ไปทำไม? คำตอบคือ วิเคราะห์เพื่อให้รู้ถึง “สภาพการณ์” ในปัจจุบันให้รอบด้านที่สุด ไม่ว่าจะเป็นจุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และอุปสรรค เมื่อรู้ถึงสภาพการณ์ปัจจุบันรอบด้านแล้วจึงค่อยมาวางแผนกลยุทธ์ แนวคิดก็คือกลยุทธ์ที่ได้จากการเห็นสภาพการณ์รอบด้าน มีแนวโน้มเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสมที่สุด 

ประเด็นคือ ผมพบว่ามี 2 ปัญหาหลักที่มักเกิดประจำเวลาทำ SWOT ซึ่งได้แก่

หนึ่ง เวลาทำ SWOT ชอบยกเอามาแต่ตัวตาราง SWOT 4 ช่อง ตามภาพด้านล่างนี้

Strength (จุดแข็ง) Weaknesses (จุดอ่อน) 
Opportunity (โอกาส) Threats (อุปสรรค) 

ซึ่งการยกมาแค่ 4 ช่องแบบนี้ ทำให้คนไม่รู้ที่มาที่ไปว่า จุดแข็งนั้นมาจากปัจจัยภายในองค์กรที่เป็นประโยชนต่อองค์กร จุดอ่อนคือปัจจัยภายในองค์กรที่เป็นภัยต่อองค์กร พอไม่รู้ที่มาที่ไป เวลาระบุข้อมูลในแต่ละตัวจึงระบุไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าอันนี้ถือเป็นจุดแข็งมั้ย อันนี้ถือเป็นโอกาสรึเปล่า หลายครั้งที่องค์กรไปทำแผน จึงเสียเวลาไปกับการมาถกเถียงเพื่อแยกแยะว่าอะไรเป็นอะไร หรือไม่ก็นึกไม่ออก ไม่รู้ว่าจะใส่อะไร ที่สำคัญคือไม่รู้ด้วยว่าที่ทำทั้งหมดนั้น เพื่อให้คนในองค์กรเข้าใจสภาพการณ์ปัจจุบัน เมื่อไม่เข้าใจเรื่องนี้ การทำ SWOT ส่วนใหญ่จึงกลายเป็นช่องทางการบ่นอย่างหนึ่งเท่านั้น ซึ่งหลายครั้งอีกเหมือนกันที่การพูดถึงจุดอ่อนในองค์กร เป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้ง อันนี้คือปัญหาที่พบบ่อยประเด็นแรก

ปัญหาที่มักเกิดประจำเวลาทำ SWOT ในประเด็นที่สองคือ เมื่อระบุข้อมูลลงไปครบ 4 ช่องทั้งจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส อุปสรรคแล้ว ก็จบการทำแผนดื้อๆ แบบนั้นเลย โดยการให้ทุกคนดูทั้ง 4 ช่องที่เขียนไว้แล้วก็ลองบอกซิว่า จะทำแผนกลยุทธ์อย่างไรบ้าง เช่น พอระบุข้อมูล 4 ช่องเสร็จ ผู้นำการประชุมก็แจกกระดาษ Post-it ให้แต่ละคนลองเขียนแผนกลยุทธ์ออกมา แล้วก็บอกว่าดูจากข้อมูล 4 ช่อง แล้วก็ “คิดเอา” ว่าจะน่าจะทำอะไรบ้าง

ผมบอกไปแล้วว่า SWOT นั้น มันมีไว้เพื่อให้เราเข้าใจสภาพการณ์ปัจจุบัน ขอย้ำคำว่า เพื่อเข้าใจสภาพการณ์ปัจจุบัน ดังนั้น ด้วยตัวของ SWOT  4 ช่องเพียวๆนั้น มันไม่สามารถทำกลยุทธ์ได้ เพราะมันไม่ได้มีไว้ทำกลยุทธ์ แต่มีไว้เพื่อให้เข้าใจสภาพการณ์ปัจจุบัน

การที่เราจะทำกลยุทธ์จาก SWOT นั้น มันจึงต้องมีกระบวนการต่อเนื่องจากการเข้าใจสภาพการณ์ ซึ่งกระบวนการที่ว่านั้นเรียกว่า TOWS Matrix ครับ

TOWS Matrix

TOWS Matrix เป็นขั้นตอนต่อเนื่องจากการทำ SWOT เพื่อให้ได้ออกมาเป็นแผนกลยุทธ์ครับ

โดยชื่อ TOWS นั้น มันก็มาจากคำว่า SWOT นั่นแหละ แต่เขียนจากหลังมาหน้า

ถ้า SWOT คือ S W O T เราก็ลองเขียนจากหลังมาหน้าโดยเอาตัว T ขึ้น ก็จะเป็น T O W S

วิธีการทำ TOWS Matrix ก็คือ เอาข้อมูลที่ได้จาก SWOT มาไขว้กัน เพื่อให้เกิดเป็นแผนกลยุทธ์ ตามตารางนี้

 Strength (จุดแข็ง)Weaknesses (จุดอ่อน)
Opportunity (โอกาส)

SO

ใช้จุดแข็งไปคว้าโอกาส
(กลยุทธ์เชิงรุก)

OW

ใช้โอกาสไปแก้จุดอ่อน
(กลยุทธ์เชิงแก้ไข)

Threats (อุปสรรค

ST

ใช้จุดแข็งไปรับมือกับอุปสรรค
(กลยุทธ์เชิงป้องกัน)

WT

แก้ไขจุดอ่อนและป้องกันอุปสรรค
(กลยุทธ์เชิงรับ)

เห็นมั้ยครับว่าพอเราทำถึง TOWS Matrix จะได้เป็นกลยุทธ์ออกมา ไม่เหมือน SWOT ที่แค่ทำให้เห็นถึงสภาพการณ์ปัจจุบันเฉยๆ การทำ SWOT แค่ 4 ช่องแล้วจบเลยจึงไม่สามารถสร้างเป็นกลยุทธ์ได้ครับ ทั้งหมดนี้คือปัญหาที่มักเกิดประจำเวลาทำ SWOT 

ที่ผมอธิบายมายืดยาว เพราะต้องการให้เห็นที่มาที่ไปของเครื่องมือครับ พอทราบแล้วท่านถึงจะเห็นความแตกต่างของเครื่องมือทั้งสอง โดยที่ไม่ไปด้อยค่าเครื่องมือใดเครื่องมือหนึ่งครับ 

เรามาต่ออีกหน่อยครับ จากตาราง TOWS Matrix ท่านจะเห็นว่ารูปแบบกลยุทธ์ที่ได้มันจะมีอยู่ 4 อย่างคือ

  1. กลยุทธ์เชิงรุก
  2. กลยุทธ์เชิงแก้ไข
  3. กลยุทธ์เชิงป้องกัน
  4. กลยุทธ์เชิงรับ

สังเกตมั้ยครับว่า จาก 3 ใน 4 มันเป็นกลยุทธ์เชิงตั้งรับหมดเลย (รับ, แก้ไข, ป้องกัน) มีเชิงรุกอยู่อันเดียว

หมายความว่าอะไร?

ก็หมายความว่า ตัว TOWS นั้น มันคือเครื่องมือในการทำแผนกลยุทธ์ที่เน้น “การตั้งรับ” น่ะสิครับ

ถ้าเปรียบ TOWS เป็นบริษัท มันคือบริษัทประเภทว่า ได้กำไรน้อยไม่เป็นไร ขออย่าให้ขาดทุนก็พอ

ถ้าเปรียบ TOWS เป็นทีมฟุตบอล มันคือทีมประเภทว่า ยิงประตูไม่ได้ไม่เป็นไร ขอให้อย่าเสียประตูก็พอ

เพราะ 3 ใน 4 ของกลยุทธ์ที่ได้จาก TOWS เป็นกลยุทธ์เชิงตั้งรับหมดเลย

คล้ายทีมฟุตบอลที่ทิ้งกองหน้าไว้ตัวเดียว ที่เหลือลงมาอุดด้านหลังให้หมด

ดังนั้นถ้าองค์กรบอกว่า เราสนใจการเดินเกมส์บุกบ้าง เราสนใจการทำประตูมากกว่าจะมากลัวว่าจะเสียประตู อันนี้อาจจะเปลี่ยนเครื่องมือในการทำแผนกลยุทธ์ จากเน้นตั้งรับมาเป็นการเน้นกลยุทธ์เชิงรุก ซึ่งเครื่องมือที่ใช้ทำกลยุทธ์เชิงรุกก็คือ SOAR Analysis ไงครับ

เห็น SO strategy (การเอาจุดแข็งไปคว้าโอกาส) ใน TOWS Matrix มั้ยครับ

 Strength (จุดแข็ง)
Opportunity (โอกาส)

SO

ใช้จุดแข็งไปคว้าโอกาส
(กลยุทธ์เชิงรุก)

การใช้ใช้จุดแข็งไปคว้าโอกาส เป็นกลยุทธ์เชิงรุกครับ และ SOAR ก็เอาทั้งสองตัวนั้นมาเป็นพื้นฐานในการทำแผนกลยุทธ์ ดังนั้น SOAR จึงเป็นเครื่องมือในการทำแผนกลยุทธ์เชิงรุก ที่เน้นไปที่การพัฒนาต่อยอดจากจุดแข็งขององค์กร โดยการตั้งต้นจาก S กับ O จากนั้นจึงนำไปขยายผลให้เป็น A กับ R ครับ

ผมขอสรุปความแตกต่างที่สำคัญของ SOAR กับ SWOT อีกครั้ง

  • SWOT นั้นมีไว้เพื่อทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน แต่หากจะทำออกมาเป็นกลยุทธ์ จะต้องนำ SWOT ไปเข้าตาราง TOWS Matrix ซึ่งจาก TOWS Matrix จะได้กลยุทธ์ออกมา 4 รูปแบบคือ กลยุทธ์เชิงรุก, กลยุทธ์เชิงแก้ไข, กลยุทธ์เชิงป้องกัน และกลยุทธ์เชิงรับ 
  • ส่วน SOAR Analysis นั้นโฟกัสไปที่การทำกลยุทธ์เชิงรุก จึงเน้นไปที่ตัว SO strategy (กลยุทธ์เชิงรุก) เป็นหลัก และใช้ตัว S กับ O เป็นจุดตั้งต้นในการทำกลยุทธ์ โดยขยายผลจาก S กับ O ไปเป็น A กับ R
  • (ทั้งนี้ SOAR ไม่ได้ตัด Weaknesses กับ Threats ออก แต่ใช้วิธีการ Reframe ให้ W กับ T กลายมาเป็น O ซึ่งจะอธิบายต่อในลำดับถัดไป)

ความต่างของ SOAR กับ SWOT ในการทำกลยุทธ์ คร่าวๆก็มีประมาณนี้ครับ

 

อ้างอิง

  • ที่มาภาพ https://slidemodel.com/how-to-use-swot-analysis-or-soar-analysis/
Panat-Sociallabthailand

Writer Profile 
Panat Neramittagaphong 
Project Manager Social Lab Thailand